วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557



บทนำ 

          ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิกถา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเปลี่ยนชื่อหนังสือเล่มนี้เป็น ไตรภูมิพระร่วง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระร่วงจ้าแห่งกรุงสุโขทัยให้คู่กับหนังสือสุภาษิตพระร่วง

          หอพระสมุดวชิรญาณได้ต้นฉบับไตรภูมิพระร่วงมาจากจังหวัดเพชรบุรี เป็นใบลาน ๑๐ ผูก จารด้วยอักษรขอมในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระมหาช่วย วัดปากน้ำ (วัดกลาง จังหวัดสมุทรปราการ ในปัจจุบัน) เป็นผู้จาร หอพระสมุดวชิรญาณ ได้ถอดความออกเป็นอักษรไทย โดยมิได้แก้ไขถ้อยคำไปจากต้นฉบับเดิม

ผู้แต่ง

          หนังสือไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีทางศาสนาที่สำคัญเล่มหนึ่ง ในสมัยสุโขทัย ซึ่งมีอิทธิพลต่อคนไทยมาก พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นหลังจากที่ทรงผนวชแล้ว และขึ้นครองราชย์ได้ ๖ ปี ประมาณ พ.ศ. ๑๘๙๖

         พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งกรุงสุโขทัย ขึ้นครองราชย์ต่อจากพญางัวนำถม จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดมหาธาตุ พ.ศ. ๑๙๓๕ หลักที่ ๘ ข. ค้นพบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อพญาเลอไทสวรรคต ใน พ.ศ. ๑๘๘๔ พญางัวนำถมได้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาพญาลิไทยกทัพมาแย่งชิงราชสมบัติ และขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๘๙๐ ทรงพระนามว่า พระเจ้าศรีสุริยพงสรามมหาธรรมราชาธิราช ในศิลาจารึกมักเรียกพระนามเดิมว่า พญาลิไท หรือเรียกย่อว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑ เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๑๙๑๑

        พญาลิไท ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงอาราธนาพระเถระชาวลังกาเข้ามาเป็นสังฆราชในกรุงสุโขทัย ได้สละราชสมบัติออกทรงผนวชที่วัดป่ามะม่วง นอกเมืองสุโขทัยทางทิศตะวันตก พญาลิไททรงมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ทรงสนพระทัยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก และทรงพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญหลายประการ เช่น สร้างถนนพระร่วง ตั้งแต่เมืองศรีสัชนาลัยผ่านกรุงสุโขทัยไปถึงเมืองนครชุม (กำแพงเพชร) บูรณะเมืองนครชุม สร้างเมืองสองแคว (พิษณุโลก) เป็นเมืองลูกหลวง และสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ที่ฝีมือการช่างงดงามเป็นเยี่ยม

งานพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท ได้แก่ ไตรภูมิพระร่วงหรือเตภูมิกถาศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงและศิลาจากรึกวัดศรีชุม เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กล่าวถึงเหตุการณ์และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆการสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ การผนวชที่วัดป่ามะม่วง เป็นต้น

จุดมุ่งหมายในการแต่ง

       มี ๒ ประการ เพื่อเทศนาโปรดพระมารดา เป็นการเจริญธรรมกตัญญูประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เพื่อใช้สั่งสอนประชาชนให้มีคุณธรรม เข้าใจพุทธศาสนา และช่วยกันดำรง
พุทธศานาไว้ให้มั่นคง


ลักษณะคำประพันธ์

       ร้อยแก้ว ประเภทความเรียงสำนวนพรรณนา

เนื้อหา

         หนังสือไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีพุทธศาสนา ที่พญาลิไททรงรวบรวมเนื้อหาสาระจากคัมภีร็ต่าง ๆ ในพุทธศาสนา ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา และอื่น ๆ ไม่น้อยกว่า ๓๐ คัมภีร์ จึงจัดได้ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ประเภทค้นคว้ารวบรวมที่ดีเล่มหนึ่ง เนื้อเรื่องเริ่มต้นด้วยคาถานมัสการเป็นภาษาบาลี มีบานแพนกบอกชื่อผู้แต่ง วันเดือนปีที่แต่ง ชื่อคัมภีร์ต่าง ๆ บอกจุดมุ่งหมายในการแต่ง แล้วจึงกล่าวถึงภูมิทั้ง ๓ คำว่า เตภูมิ หรือ ไตรภูมิ แปลว่า สามแดน คือ กามภูมิ รูปภูมิอรูปภูมิ ทั้ง ๓ ภูมิ แบ่งออกเป็น ๘ กัณฑ์ (กัณฑ์ = เรื่อง,หมวด,ตอน)แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ความไม่แน่นอนทั้งมนุษย์และสัตว์รวมทั้งสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ภูเขา แม่น้ำ แผ่นดิน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ความเปลี่ยนแปลงนี้กวีไทยเรียกว่า “ อนิจจลักษณะ ”ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า ไตรภูมิกถา / เตภูมิกถา หมายถึงเรื่องราวของโลกทั้ง ๓ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ 
          กามภูมิ คือ โลกของผู้ที่ยังติดอยู่ในกามกิเลส แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ได้แก่    ๑.สุคติภูมิ      ๒. อบายภูมิ
               ๑.สุคติภูมิ ได้แก่
                    ๑.๑ มนุสสภูมิ ( โลกมนุษย์ )
                    ๑.๒ สวรรคภูมิ (ฉกามาพจรภูมิ)
                           ๑.๒.๑ จาตุมหาราชิกา
                           ๑.๒.๒ ดาวดึงส์
                           ๑.๒.๓ ยามา
                           ๑.๒.๔ ดุสิต
                           ๑.๒.๕ นิมมานรดี
                           ๑.๒.๖ ปรนิมมิตวสวัตดี

              ๒. อบายภูมิ ได้แก่
                   ๒.๑ นรกภูมิ ( มี ๘ ขุม )
                   ๒.๒ ดิรัจฉานภูมิ
                   ๒.๓ เปรตภูมิ
                   ๒.๔ อสูรกายภูมิ

          รูปภูมิ เป็นดินแดนของพรหมที่มีรูป มี ๑๖ ชั้น (โสฬสพรหม )
          อรูปภูมิ เป็นดินแดนของพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่จิตหรือวิญญาณ

ทวีปที่มนุษย์อาศัยอยู่มี ๔ ทวีป ได้แก่

๑. อุตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ มนุษย์ที่อาศัยอยู่ ในทวีปนี้ มีลักษณะใบหน้าเป็นรูป ๔ เหลี่ยม รักษาศีล ๕ เป็นนิจ มีอายุ ประมาณ ๑,๐๐๐ ปี เป็นหนุ่มสาวอยู่เสมอ อาศัยอยู่ตามโพรงไม้ ไม่ต้องทำงานใด ๆ แต่งตัวสวยงาม มีกับข้าวและที่นอนเกิดขึ้นตามใจปรารถนา

๒. บูรพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออก ของภูเขาพระสุเมรุ มีใบหน้าตอนบนโค้งตัดลงมาเหมือนบาตร มีอายุ ประมาณ ๗๐๐ ปี

๓. อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตก ของภูเขาพระสุเมรุ มีใบหน้าวงกลม คล้ายวงพระจันทร์ มีอายุ ประมาณ ๕๐๐ ปี

๔. ชมพูทวีป อยู่ทางทิศใต้ ของภูเขาพระสุเมรุ คือ มนุษย์โลกนี้เอง อายุขัยไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการทำบุญหรือทำกรรม แต่ทวีปนี้ก็พิเศษกว่า ๓ ทวีปคือ เป็นที่เกิดของพระพุทธเจ้า พระจักรพรรดิราช และพระอรหันต์

การเกิดเป็นพรหมชั้นต่าง ๆ

๑. ปฐมฌานภูมิ ๓
     ๑.๑ ผู้เจริญปฐมฌานได้เพียงขั้นเล็กน้อย (ปริตฺตํ) จะเกิดเป็น พรหม ปาริสัชชา พรหมบริวาร
     ๑.๒ ผู้เจริญปฐมฌานได้ปานกลาง (มชฺฌิมํ) จะเกิดเป็นพรหมชั้นปุโรหิต
     ๑.๓ ผู้เจริญปฐมฌานได้ขั้นประณีต (ปณีตํ) จะเกิดเป็นพรหมชั้น ท้าวมหาพรหม หรือ มหาพรหมา
๒. ทุติยฌานภูมิ ๓
     ๒.๑ ผู้เจริญทุติยฌานได้เล็กน้อย จะเกิดเป็นพรหมชั้นปริตตาภา แปลว่า ผู้มีรัศมีน้อย
     ๒.๒ ผู้เจริญทุติยฌานได้ปานกลาง จะเกิดเป็นพรหมชั้น อัปปมาณาภา แปลว่า ผู้มีรัศมีมีประมาณไม่ได้
     ๒.๓ ผู้เจริญทุติยฌานได้ขั้นประณีต จะเกิดเป็นพรหมชั้น อาภัสสรา แปลว่า ผู้มี รัศมีเปล่งซ่านไป
๓. ตติยฌานภูมิ
     ๓.๑ ผู้เจริญตติยฌานภูมิได้เล็กน้อย จะเกิดเป็นพรหมชั้น ปริตตสุภา แปลว่า ผู้มีรัศมีความงามน้อย
     ๓.๒ ผู้เจริญตติยฌานได้ปานกลาง จะเกิดเป็นพรหม ชั้น อัปปมาณสุภา แปลว่า ผู้มีรัศมีความงามหาประมาณมิได้
     ๓.๓ ผู้เจริญตติยฌานได้ขั้นประณีต จะเกิดเป็นพรหมชั้น สุภกิณหา แปลว่า ผู้มีรัศมีงามกระจ่าง
การแบ่งฌานเป็นขั้นเล็กน้อย ปานกลางและประณีตนั้น อาศัยขั้นตอนการบรรลุถ้าบรรลุด้วยอิทธิบาทน้อยก็เป็นฌานเล็กน้อย ใช้ความเพียรขั้นกลางก็เป็นมัชฌิมฌาน ใช้ความเพียรขั้นอุกฤษฏ์ก็เป็นปณีตฌาน
๔. จตุตถฌานภูมิ ๓ อย่างย่อ และ ๗ อย่างพิสดาร ดังนี้
     ๔.๑ เวหัปผลา ผู้มีผลอันไพบูลย์
     ๔.๒ อสัญญีสัตว์ ผู้ไม่มีสัญญา
     ๔.๓ สุทธาวาส ๕ ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ คือ พระอนาคามี
๑. อวิหา ผู้ไม่เสื่อมฐานะของตน โดยกาลเล็กน้อย อยู่นาน (เจริญสัทธินทรีย์)
๒. อตัปปา ผู้ไม่เดือดร้อน (เจริญวิริยินทรีย์)
๓. สุทัสสา ผู้งดงามน่าทัศนา (เจริญสตินทรีย์ )
๔. สุทัสสี ผู้น่าทัศนาเพราะบริสุทธิ์ (สมาธินทรีย์)
๕. อกนิฏฐา ผู้ไม่เล็กน้อยด้อยกว่าใคร (ปัญญินทรีย์)

ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ

การเกิดมนุษย์
ปฏิสนธิ ; กัลละ (ขนาด เศษ 1 ส่วน256 ของเส้นผม)
7 วัน ; อัมพุทะ (น้ำล้างเนื้อ)
14 วัน ; เปสิ (ชิ้นเนื้อ)
21 วัน ; ฆนะ (ก้อนเนื้อ, แท่งเนื้อ ขนาดเท่าไข่ไก่)
28 วัน ; เบญจสาขาหูด (มีหัว แขน2 ขา2) ครบ 1 เดือน
35 วัน ; มีฝ่ามือ นิ้วมือ ลายนิ้วมือ
42 วัน ; มีขน เล็บมือ เล็บเท้า (เป็นมนุษย์ครบสมบูรณ์)
50 วัน ; ท่อนล่างสมบูรณ์
84 วัน ; ท่อนบนสมบูรณ์
184 วัน ; เป็นเด็กสมบูรณ์ นั่งกลางท้องแม่ (6เดือน)

การคลอด
ท้อง 6 เดือนคลอด ;ไม่รอด (บ่ห่อนได้สักคาบ)
ท้อง 7 เดือนคลอด ;ไม่แข็งแรง (บ่มิได้กล้าแข็ง)

การเกิด
มาจากสวรรค์ ; ตัวเย็น ออกมาแล้วหัวเราะ
มาจากนรก ; ตัวร้อน ออกมาแล้วร้องไห้
กาลทั้ง 3 ได้แก่
     กาล 1 ; แรกเกิดในท้องแม่
     กาล 2 ; อยู่ในท้องแม่
     กาล 3 ; ออกจากในท้องแม่
* คนธรรมดา ; ไม่รู้ตัว จำไม่ได้ทั้ง 3 กาล
* พระปัจเจกโพธิเจ้า/ พระอรหันตาขีณาสพเจ้า / พระอัครสาวกเจ้า ; 2 กาลแรกรู้ตัว จำได้ แต่ลืมกาลที่ 3

ลักษณะเด่น

     หนังสือไตรภูมิพระร่วง ถึงแม้ว่าเป็นวรรณคดีโบราณที่ใช้ภาษาไทยแบบเก่า และมีศัพท์ทางพระพุทธศาสนาปะปนอยู่มาก ทำให้ยากแก่การอ่านสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางพุทธศาสนามาก่อนก็ตาม แต่สำนวนพรรณนาที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้มีความแจ่มแจ้ง ไพเราะ ช่วยให้เกิดจินตภาพหลายตอน และทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามไปด้วยเช่น ตอนพรรณนาถึงความน่ากลัวในนรกภูมิ และความสุขสบายในสวรรค์ เป็นต้น ทุก ๆ ตอนที่กล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ได้ทรงอธิบายตอนนั้นอย่างละเอียด กระบวนพรรณนาที่แจ่มแจ้งแลเห็นจริงจังอันควรยกมาเป็นตัวอย่าง เช่น ตอนพรรณนาลักษณะของเปรต ได้กล่าวเอาไว้ชัดเจน ดังนี้

     " เปรตลางจำพวก ตัวเขาใหญ่ ปากเขาน้อยเท่ารูเข็มนั้นก็มี เปรตลางจำพวกผอมหนักหนา เพื่ออาหารจะกินบมิได้ แม้ว่าจะขอดเอาเนื้อน้อย ๑ ก็ดี เลือดหยด ๑ ก็ดี บมิได้เลย เท่าว่ามีแต่กระดูกและหนังพอกกระดูกภายนอกอยู่ไส้ หนังท้องนั้นเหี่ยวติดกระดูกสันหลังแล ตานั้นลึกและกลวงดังแสร้งควักเสีย ผมเขานั้นยุ่งรุ่ยร่ายลงมาปกปากเขา มาตรว่าผ้าร้ายน้อยหนึ่งก็ดี และจะมีปกกายเขานั้นก็หามิได้เลย เทียรย่อมเปลือยอยู่ ชั่วตนเขานั้นเหม็นสาบพึงเกลียดนักหนาแลเขานั้นเทียรย่อมเดือดเนื้อร้อนใจเขาแล เขาร้องไห้ร้องครางอยู่ทุกเมื่อแล เพราะว่าเขาอยากอาหารนักหนาแล "

คุณค่าของหนังสือ

๑. ด้านภาษาและสำนวนโวหาร 

เป็นวรรณคดีเล่มแรกที่เรียบเรียงในลักษณะการค้นคว้าจากคัมภีร์ต่าง ๆ ถึง ๓๐คัมภีร์ จึงมีศัพท์ทางศาสนาและภาษาไทยโบราณอยู่มาก สามารถนำมาศึกษาการใช้ภาษาในสมัยกรุงสุโขทัย ตลอดจนสำนวนโวหารต่าง ๆ ไตรภูมิพระร่วงมีสำนวนหนักไปในทางศาสนาโวหารและพรรณนาโวหาร ผูกประโยคยาว และใช้ถ้อยคำพรรณนาดีเด่น สละสลวยไพเราะ ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านอารมณ์สะเทือนใจและให้จินตภาพหรือภาพในใจอย่างเด่นชัด เช่น " บ้างเต้นบ้างรำบ้างฟ้อน ระบำบันลือเพลงดุริยดนตรี บ้างดีดบ้างสีบ้างตีบ้างเป่า บ้างขับศัพท์สำเนียง หมู่นักคุณจุณกันไปเดียรดาษพื้น ฆ้องกลองแตรสังข์ระฆังกังสดาลมโหระทึกกึกก้องทำนุกดี ที่มีดอกไม้อันตระการ่ต่าง ๆ สิ่ง มีจวงจันทน์กฤษณาคันธาทำนอง ลบองดังเทพยดาในเมืองฟ้า สนุกนี้ทุกเมื่อบำเรอกันบมิวาย "

๒. ด้านความรู้ 

     ๒.๑ ด้านวรรณคดี ทำให้คนชั้นหลังได้รับความรู้ทางวรรณคดี อันเป็นความคิดของคนโบราณ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของวรรณคดีไทย เช่น พระอินทร์ แท่นบัณพุกัมพล ช้างเอราวัณ เขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ต้นปาริชาติ ต้นนารีผล นรก สวรรค์ เป็นต้น

     ๒.๒ ด้านภูมิศาสตร์ เป็นความรู้ทางภูมิศาสตร์ของคนโบราณ
โดยเชื่อว่าโลกมีอยู่ ๔ ทวีป ได้แก่ ชมพูทวีป บุรพวิเทหทวีป อุตตรกุรุทวีป และอมรโคยานทวีป โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง

๓. ด้านสังคมและวัฒนธรรม

     ๓.๑ คำสอนทางศาสนา ไตรภูมิพระร่วงสอนให้คนทำบุญละบาป เช่น การทำบุญรักษาศีลเจรฐสมาธิภาวนาจะได้ขึ้นสวรรค์การทำบาปจะตกนรก แนวความคิดนี้มีอิทะพลเหนือนจิตใจของคนไทยมาช้านาน เป็นเสมือนแนวการสอนศีลธรรมของสังคม ให้คนปฏิบัติชอบซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม

     ๓.๒ ค่านิยมเชิงสังคม อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ให้ค่านิยมเชิงสังคมต่อคนไทย ให้ตั้งมั่นและยึดมั่นในการเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา รักษศีล บำเพ็ญทาน รู้จักเสียสละ เชื่อมั่นในผล แห่งกรรม

     ๓.๓ ศิลปกรรม จิตรกรนิยมนำเรื่องราวและความคิดในไตรภูมิพระร่วงไปเขียนภาพสีไว้ในโบสถ์วิหาร โดยจะเขียนภาพนรกกไว้ที่ผนังด้านล่างหรือหลังองค์พระประธาน และเขียนภาพสวรรค์ไว้ที่ผนังเบื้องบนรอบโบสถ์วิหาร

๔. ด้านอิทธิพลต่อวรรณคดีอื่น

       มีหนังสืออ้างอิงทำนองไตรภูมิพระร่วง ที่มีผู้แต่งเลียนแบบอีกหลายเล่ม เช่น จักรวาลทีปนี ของ พระสิริมังคลาจารย์แห่งเชียงใหม่ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเล่าเรื่องไตรภูมิ เป็นต้น

     ไตรภูมิพระร่วงมีอิทธิพลสำคัญต่อแนวคิดของกวีรุ่นหลัง โดยนำความคิดในไตรภูมิพระร่วงสอดแทรกในวรรณคดีต่าง ๆ เช่น ลิลิตโองการแช่งน้ำ มหาเวสสันดรชาดก รามเกียรติ์ กากีคำกลอนขุนช้างขุนแผน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ลิลิตโองการแช่งน้ำ กล่าวถึงไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก
" นานาอเนกน้าวเดิมกัลป์ จักร่ำจักรพาฬหเมื่อไหม้
กล่าวถึงตะวันเจ็ดอันพลุ่ง น้ำแล้งไข้ขอดหาย "

รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวถึงทวีปทั้ง ๔ ว่า
" สำแดงแผลงฤทธิ์ฮีกฮัก ขุนยักษ์ไล่ม้วนแผ่นดิน
ชมพูอุดรกาโร อมรโคยานีก็ได้สิ้น "

รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ กล่าวถึงปลาอานนท์
" เขาสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน "
กากีคำกลอน กล่าวถึงแม่น้ำสีทันดร
" ....................................... ในสาครลึกกว้างกลางวิถี
แม้จะขว้างหางแววมยุรี ก็จมลงถึงที่แผ่นดินดาน
อันน้ำนั้นสุขุมละเอียดอ่อน จึงชื่อสีทันดรอันใสสาร
ประกอบด้วยมัจฉากุมภาพาล คชสารเงือกน้ำและนาคิน "
ขุนช้างขุนแผน กล่าวถึงป่าหิมพานต์
" ม่านนี้ฝีมือวันทองทำ จำได้ไม่ผิดนัยน์ตาพี่
เส้นไหมแม้นเขียนแนบเนียนดี สิ้นฝีมือแล้วแต่นางเดียว
เจ้าปักเป็นป่าพนาเวศ ขอบเขตเขาคลุ้มชอุ่มเขียว
รุกขชาติดาดใบระบัดเรียว พริ้งเพรียวดอกดกระดะดวง
ปักเป็นมยุราลงรำร่อน ฟ่ายฟ้อนอยู่บนยอดภูเขาหลวง
แผ่หางกางปีกเป็นพุ่มพวง ชะนีหน่วงเหนี่ยวไม้ชะม้อยตา
ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา
วินันตกอัสกรรณเป็นหลั่นมา การวิกอิสินธรยุคุนธร "

คุณค่า
๑. คุณค่าด้านวรรณคดี เป็นความเรียงที่มีสัมผัสคล้องจอง มีความเปรียบเทียบที่ให้อารมณ์และเกิดจินตภาพชัดเจน เป็นภาพพจน์เชิงอุปมาและภาษาจินภาพ เห็นความงดงามของภาษา
๒. คุณค่าด้านศาสนา เป็นปรัชญาทางพระพุทธศาสนา ชี้ให้เห็นแก่นแท้ของชีวิตอาจนำมนุษยชาติให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร
๓. คุณค่าด้านจริยธรรม ไตรภูมิพระร่วงกำหนดกรอบแห่งความประพฤติเพื่อให้สังคมมีความสงบสุขผู้ปกครองแผ่นดินต้องมีคุณธรรม
๔. คุณค่าด้านประเพณีและวัฒนธรรม ความเชื่อที่ปรากฏในเรื่องไตรภูมิพระร่วงยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ประเพณีงานศพ ภาพนรกและสวรรค์ก่อให้เกิดผลงานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และ
สถาปัตยกรรมจนถึงปัจจุบัน
๕. ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ ทำให้เห็นได้ว่าแนวคิดของวรรณกรรมเล่มนี้เป็นไปตามหลักทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการ
เกิดเป็นมนุษย์ได้นั้นไส้เพราะว่บาปกรรมของคนผู้มาเกิดนั้น แลให้บังเกิดเป็นลมในท้องผู้หญิงนั้นแลลมนั้นหากพัดต้องครรภ์นั้นก็แท้งก็ตายฯ ลางคาบมีตืดมีเอือนในท้องนั้น แลติฃืดแลเดือนนั้นหากไปกินครรภ์นั้นก็ตาย ทว่าผู้หญิงอันหาลูกบมิได้เพื่อดังนั้น ผู้หญิงอันมีครรภ์ด้วยชลามพชโยนิ เมื่อแรกก่อเป็นนั้นน้อยนักหนาเรียกชื่อว่ากัลละหัวปีมีเท่านี้ เอาผมคนในแผ่นดินเราอยู่นี้มาผ่าออกเป็น ๘ คาบ เอาแต่คาบเดียวมาเปรียบเท่าผมคนในแผ่นดินอันชื่อว่าอุตตรกุรุนั้น แลเอาเส้นผมของชาวอุตตรกุรุนั้นแต่เส้นหนึ่งขุบน้ำมันงาอันใสงามนั้นเอามาสลัดได้ ๗ คาบแล้วจึงถืออยู่ น้ำมันนั้นย้อยลงมาปลายผมนั้นท่านว่ายังใหญ่กว่ากัลละนั้นเลยฯ ทรายอันชื่อชาติอุนนาโลมอันอยู่ในตีนเขาพระหิมพานต์ แลเส้นขนนั้นยังน้อยกว่าเส้นผมชาวอุตตรกุรุทวีปนั้นเล่า ให้เอาชนทรายอันชื่อชาติอุนนาโลมเส้นหนึ่งชุบน้ำมันงาอันใสงามเอาออกมาสะลัดเสียได้ ๗ คาบ แล้วจึงถืออยู่ น้ำมันนั้นย้อยลงมาในปลายขนทรายนั้น จึงเท่ากัลลละนั้นไส้ กัลลละนั้นไสงามนักหนาดังน้ำมันงาอันพึ่งตักใหม่ งามดังเปรียงประโคอันแรกออกใหม่ แต่นั้นจึงก่อเป็นลม ๕ สิ่งอันถือตีนคนนี้ให้แร่งก็มาอยู่กลนั้น ลมทั้งหลาย ๕ สิ่งนั้นมาพร้อมกันทีเดียวแล เมื่อแรกจะก่อเป็นกัลลละนั้น มีรูป ๘ อันแล รูป ๘ อันนั้นคือรูปอันหนึ่งชื่อว่าปถวีรูป อันหนึ่งนั้นเป็นน้ำชื่อว่าอาโปรูป อันหนึ่งเป็นตัวชื่อกายรูป อันหนึ่งให้เป็นผู้หญ้งผู้ชายชื่อภาวรูป รูปอันเป็นไปชื่อหทัยรูป รูปอันหนึ่งให้ตั้งรูปทั้งหลายชื่อชีวิตรูป ในรูปฝูงนั้นมีผิชีวิตอันให้เป็น ๓ ก้อนอันเกิดด้วยชีวิตอันให้เป็น ๓ อันนั้นเกิดรูปคืออันใดเล่าชีวิตอันเกิดในกายรูป ชีวิตอันหนึ่งเกิดในหทัยรูปมีรูป ๓ อีนนั้นมีองค์แล ๙ แล ๙ เป็นบริวารโสด อันใดสิ้นคือปถวี อาโป เตโช วาโย วัณโณ คันโธ รโส โอชา องค์ฝูงนี้ผสมเข้าด้วยกาย เอากายใส่อีกเป็นคำรบ ๙ ผิเลเข้าในภาวเอาภาวอีกเป็นคำรบ ๙ ผิเข้าในหทัยเอาหทัยเป็นคำรบ ๙ เพื่อดังนั้นจึงว่ามีแล ๙ แล ๘ เป็นองค์แก่ชีวิต เพื่อดังนั้นได้ ๓ เกิดด้วยเมื่อเอาปฏิสนธิแต่อาทิพร้อมกันทีเดียวแลฯ ฝูงสัตว์อันเกิดในท้องแม่ เมื่ออาทิมีรูปเท่าดังกล่าวแล้วนั้นแลฯ อันว่าจักษุรูปแลโสตรูป ฆานรูป ชิวหารูป รูป ๕ อันนี้จึงเกิดโดยอันดับกันชอบกาล แลรูปอันเกิดแต่กรรมชรูปไส้อาศัยแก่สันตติจึงเกิดฯ ถัดนั้นรูปอันเกิดแต่อาหารชรูปนั้น อาศัยแก่อาหารอันแม่กินจึงบังเกิดรูป รูปฝูงนี้เกิดเมื่อภายหลังเป็นโดยอันดับกันถ้วน ๒ โดยดังกล่าวมานี้แลฯ เมื่อรูปอันเกิดแต่ใหม่อันใสแก่ท์วิติยจึงเกิดนั้น รูปได้ ๘ อันรูปนั้นชื่อจิตรสมุฏฐานกลาปแลฯ เมื่อรูปอันเกิดแต่รูปนั้นอาศัยแก่สันตติจึงเกิดรูปนั้น เกิดรูปได้ ๘ อันโสด รูปอันนั้นชื่ออุตุสมุฏฐานกลาปแลฯ เมื่อรูปอันเกิดแต่อาหารนั้น อาศัยแก่โอชารสอันแม่ตนเกิดข้าวน้ำนั้นเกิดรูปได้ ๘ อันโสด รูปชื่ออาหารสมุฏฐานกลาปแลฯ ผิรูปอันจะเกิดเป็นชายก็ดีเป็นหญิงก็ดีเกิดมีอาทิต่เกิดเป็นกัลลละนั้น โดยใหญ่แต่วันละวันแลน้อย ครั้งเถิง ๗ วันตั้งแต่น้ำล้างเนื้อนั้นเรียกว่าอัมพุทธ ๆ นั้นโดยใหญ่ไปทุกวารไส้ ครั้นได้เถิง ๗ วารข้นเป็นดังตะกั่วอันเชื่อมอยู่ในหม้อตยกชื่อว่าเป็นเปสิ ๆ นั้นค่อยใหญ่ไปทุกวัน ครั้งเถิง ๗ วันแข็งเป็นก้อนดังไข่ไก่เรียกว่า ฆณะ ๆ นั้นค่อยใหญ่ไปทุกวัน ครั้นเถิง ๗ วันเป็นต่มออกได้ ๕ แห่งดังหูดนั้นเรียกว่าเบญจสาขาหูด ๆ นั้นเป็นมือ ๒ อันเป็นตีน ๒ อัน หูดเป็นหัวนั้นอันหนึ่ง แลแต่นั้นค่อยไปเบื้องหน้าทุกวัน ครั้ง ๗ วันเป็นฝ่ามือเป็นนิ้วมือ แต่ไป ๓๒ จึงเป็นขนเป็ฯเล็บตีนเล็บมือเป็นเครื่องสำหรับเป็นมนุษย์ถ้วนทุกอันแลฯ แต่รูปอันมีกลางตนไส้ ๕๐ แต่รูปอันมีหัวได้ ๘๔ แต่รูปอันมีเบื้องต่ำได้ ๕๐ ผสมรูปทั้งหลายอันเกิดเป็นสัตว์อันอยู่ในท้องแม่ได้ ๑๘๔ แลกุมารนั้นนั่งกลางท้องแม่แลเอาหลังมาต่อหนังท้องแม่ อาหารอันแม่กินเข้าไปแต่ก่อนนั้นอยู่ใต้กุมารนั้น อาหารอันแม่กินเข้าไปใหม่นั้นอยู่เหนือกุมารนั้น เมื่อกุมารอยู่ในท้องแม่นั้นลำบากนักหนา พึงเกลียดพึงหน่ายพ้นประมาณนัก ก็ชื้นแลเหม็นกลิ่นตืดแลเอือนอันได้ ๘๐ ครอกซึ่งอยู่ในท้องแม่เป็นที่เหม็น แลที่ออกลูกออกเต้าที่เฒ่าที่ตายที่เร้ว ฝูงตืดแลเอือนทั้งหลายนั้นคนกันอยู่ในท้องแม่ ตืดแลเอือนฝูงนั้นเริ่มตัวกุมารนั้นไส้ ดุจดังหนอนอันอยู่ในปลาเน่าแลหนอนอันอยู่ในลามกอาจมนั้นแลฯ อันว่าสายไส้ดือแห่งกุมารนั้นกลวงดังสายก้านบัวอันมีชื่อว่าอุบล จะงอยไส้ดือนั้นกลวงขึ้นไปเบื้องบนติดหลังท้องแม่แลข้าวน้ำอาหารอันใดแม่กินไส้แลโอชารสนั้นก็เป็นน้ำชุ่มเข้าไปในไส้ดือนั้นแลเข้าไปในท้องกุมารนั้นและน้อย ๆ แลน้อยนั้น ก็ได้กินค่ำเช้าทุกวัน แม่จะพึงกินเข้าไปอยู่เหนือกระหม่อมทับหัวกุมารนั้นอยู่ แลลำบากนักหนาแต่อาหารอันแม่กินก่อนไส้แลกุมารนั้นอยู่เหนืออาหารนั้นเบื้องหลังกุมารนั้นต่อหลังท้องแม่แลนั่งยองอยู่ในท้องแม่แลกำมือทั้งสอง คู้ตัวต่อหัวเข้าทั้งสองเอาหัวไว้เหนือหัวเข่า เมื่อนั่งอยู่ดังนั้นเลือดแลน้ำเหลืองย้อยลงเต็มตนหยดทุกเมื่อแลทุกเมื่อ ดฃแลดุจดังลิงเมื่อฝนตกแลนั่งกำมือเซาเจ่าอยู่ในโพรงไม้นั้นแล ในท้องแม่นั้นร้อนหนักหนาดุจดังเราเอาใบตองเข้าจะต้มแลต้นในหม้อนั้นไส้ สิ่งอาหารอันแม่กินเข้าไปในท้องนั้นไหม้แลย่อยลงด้วยอำนาจแห่งไฟธาตุอันร้อนนั้น ส่วนตัวกุมารนั้นบมิไหม้เพราะว่าเป็นธรรมดาด้วยบุญกุมารนั้นจะเป็นคนแลยมิไหม้ตายเพื่อดังนั้นแล แต่กุมารนั้นอยู่ในท้องแม่บห่อนได้หายใจเข้าออกเลย บห่อนได้เหยียดตีนเหยียดมือออก ดังเราท่านทั้งหลายนี้สักคาบหนึ่งเลย แลกุมารนั้นเจ็บเนื้อเจ็บตนดังคน อันท่านขันไว้ในไหอันคับแคบนักหนา แค้นเนื้อแค้นใจแลเดือดเนื้อร้อนใจนักหนา เหยียดตีนมือบมิได้ดับงท่านเอาใส่ไว้ในที่คับฯ ผิแลว่าเมื่อแม่เดินไปก็ดีนอนก็ฟื้นตนก็ดี กุมารอยู่ในท้องแม่นั้นให้เจ็บเพียงจะตายแลดุจดังลูกทรายอันพึ่งออกแลอยู่ธรห้อย ผิบมีดุจดังคนอันเมาเล่า ผีบมีดุจดังลูกงูอันหมองูเอาไปเล่นนั้นแลฯ อันอยู่ลำบากยากใจ ดุจดังนั้นบมิได้ลำบากแต่สองวารสามวารแลจะพ้นได้เลย อยู่ยากแลเจ็ดเดือน ลางคาบ ๘ เดือน ลางคาบ ๙ เดือน ลางคาบ ๑๐ เดือน ลางคน ๑๑ เดือน ลางคนคำรบปีหนึ่งจึงคลอดก็มีแลฯ คนผู้ใดอยู่ในท้องแม่ ๖ เดือน แลคลอดนั้นบห่อนจะได้สักคาบฯ คนผู้ใดอยู่ในท้องแม่เจ็ดเดือนแล คลอดนั้นแม่เลี้ยงเป็นคนก็บมิได้กล้าแข็งบมิทนแดดทนฝนได้แลฯ คนผู้ใดจากแต่นรกมาเกิดนั้น เมื่อคลอดออกตนกุมารนั้นร้อน เมื่อมันอยู่ในท้องแม่นั้นย่อมเดือดเนื้อร้อนใจและตระหนกกระหาย อีกเนื้อแม่นั้นก็พลอยร้อนด้วยโสดฯ คนผู้จากแต่สวรรค์ลงมาเกิดนั้น เมื่อจะคลอดออกตนกุมารนั้นเย็น ๆ เนื้อเย็นใจ เมื่อยังอยู่ในท้องแม่ก็ดีแม่นั้นอยู่เย็นเป็นสุขสำราญบานใจแลผู้อยู่ในท้องแม่ก็ดี เมื่อเถิงจักคลอดนั้นก็ด้วยกรรมนั้น กลายเป็นลมในท้องแม่สิ่งหนึ่ง พัดให้ตัวกุมารนั้นขึ้นหนบน ให้หัวลงมาสู่ที่จะออกนั้นดจดังฝูงนรกอันยมบาลกุมตีนแลหย่อนหัวลงในขุมนรกนั้นอันลึกได้แลร้อยวานั้น เมื่อกุมารนั้นคลอดออกจากท้องแม่ออกแลไปบมีพ้นตน ๆ เย็นนั้นแลเจ็บเนื้อเจ็บตนนักหนา ดังช้างสารอันท่านชักท่านเข็นออกจากประตูลักษอันน้อยนั้น แลคับตัวออกยากลำบากนั้น ผิบมิดังนั้นดังคนผู้อยู่ในนรกแลฯ ภูเขาอันชื่อคังเคยยปัพตหีบแลแห่งแลบดนฃบี้นั้นแลฯ ครั้นออกจากท้องแม่ไส้ ลมอันมีในท้องผู้น้อยค่อยพัดออกก่อน ลมอันมีภายนอกนั้นจึงพัดเข้านั้นนักหนา พัดเข้าเถิงตนลิ้นผู้น้อยนั้นจึงอย่า ครั้นออกจากท้องแม่แตี่นั้นไปเมื่อหน้ากุมารนั้นจึงรู้หายใจเข้าออกแลฯ ผิแลคนอันมาแต่นรกก็ดีมาแต่เปรตก็ดี มีนคำนึงเถิงความอันลำบากนั้น ครั้นว่าออกมาก็ร้อยไห้แลฯ ผิแลคนมาแต่สวรรค์แลคำนึงเถิงความาขแต่ก่อนนั้น ครั้นว่าออกมาไส้ก็ย่อมหัวร่อก่อนแลฯ แต่คนผู้มาอยู่ในแผ่นดินนี้ทั่วทั้งจัวาลอันใดอันอื่นก็ดี เมื่อแรกมาเกิดในท้องแม่ก็ดี เมื่อออกจากท้องแม่ก็ดี ในกาลทั้ง ๓ นั้นย่อมหลงบมิได้คำนึงรู้อันใดสักสิ่ง ฯ ฝูงที่อันมาเกิดเป็นพระปัจเจกโพธิเจ้าก็ดี แลเป็นพระอรหันตาชีณาสพเจ้าก็ดี แลมาเป็นพระองค์อรรคสาวกเจั้าก็ดี เมื่อธแรกมาเอาปฏิสนธินั้นก็ดี เมื่อธอยู่ในท้องแม่นั้นก็ดีแล สองสิ่งนี้ เมื่ออยู่ในท้องแม่นั้นบห่อนจะรู้หลงแลยังคำนึงรู้อยู่ทุกวัน เมื่อจะออกจากท้องแม่วันนั้นไส้เ จึงลมกรรมชวาตก็พัดให้หัวผู้น้อนนั้นลงมาสู่ที่จะออกแล คับแคบแอ่นนัยนักหนาเจ็บเนื้อเจ็บตนลำบากนักหนา เจ็บเนื้อเจ็บตนลำบากนักดังกล่าวมาแต่ก่อน แลพลิกหัวลงบมิได้รู้สึกสักอันบเริ่มดังท่านผู้จะออกมาเป็นพระปัจเจกโพธิเจ้าก็โ ผู้จะมาเกิดเป็นลูกพระพุทธเจ้าก็ดี คำนึงรู้สึคกตนแลบมิหลงแต่สองสิ่งนี้ คือเมื่อจะเอาปฏิสนธิแลอยู่ในท้องแม่นั้นได้แลฯ เมื่อจะออกจากท้องแม่นั้นย่อมหลงดุจคนทั้งหลายนี้แลฯ ส่วนว่าคนทั้งหลายนี้ไส้ย่อมหล่งทั้ง ๓ เมื่อควรอิ่มสงสารแลฯ พระโพธิสัตว์เจ้าเมื่อชาติลงมาตรัสแก่สัพพัญญุตญาณ เมื่อแรกเอาปฏิสนธิก็ดี เมื่ออยู่ในคตรรภ์ก็ดี แลเสด็จจากครรภ์ก็ดี พระมารดาก็ดี บห่อนจะรู้หลงสักทีย่อมคำนึงรู้ทุกประการแลฯ เมื่อพระโพธิสัตว์อยู่ในครรภ์พระมารดานั้นบมิเหมือนดุจคนทั้งหลายเบื้องหลัง พระโพธิสัตว์ผูกหลังท้องแม่แลนั่งพแนงเชิงอยู่ดังนักปราชญ์ผู้งามนั้นนั่งเทศนาในธรรมาสนนั้น ตัวแห่งพระโพธิสัตว์เจ้านั้นเรืองงามดังทอง เห็นออกมารอง ๆ ดังจะออกมาภายนอกท้อง มารดาโพธิสัตว์ก็ดีแลผู้อื่นก็ดี ก็เห็นรุ่งเรืองงามดังท่านเอาไหมอันแดงนั้นมาร้อยแก้วขาวนั้นแบฯ เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกจากท้องแม่ ลมอันเป็นบุญนั้นบมิได้พัดให้หัวลงมาเบื้องต่ำแลให้ตีนขึ้นเบื้องบนดังสัตว์ทั้งหลายนั้นหาบมิได้ฯ เมื่อพระโพธิสัตว์จะออกจากครรภ์มารดานั้ นธเหยียดตีนแลเมื่อธออกแล้วธลุกยืนขึ้นแล้วธจึงออกจากท้องแม่ธแลฯ แต่เมื่อธยังเป็นฯ แต่มนุษย์ทั้งหลายอันมาเกิดในท้องแม่มนั้น และจะมีประดุจเป็นโพธิสัตว์เมื่ปัจฉิมชาติจักได้ตรัสเป็นพระนี้บห่อนมีเลย แต่ก่อน ๆ โพ้นไส้ย่อมเป็นโดยปรกติคจนทั้งหลายนี้แลฯ เมื่อพระโพธิสัตว์เนสด็จลงมาเอาปฏิสนธิเมื่อธสมภพก็ดี แผ่นดินไหวได้แลหมื่นจักรวาลทั้งน้ำอันชูแผ่นดินก็ไหว ทั้งน้ำสมุทรก็ฟูมฟอง เขาพระสุเมรุราชก็ทรงอยู่บมิได้ ก็หวั่นไหวด้วยบุญสมภารพระโพธิสัตว์เจ้าผู้มาตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้นแลฯ อันว่าปรกติคนทั้งหลายในโลกย์นี้ก็โ องค์พระโพธิสัตว์เจ้าก็ดี ติรัจฉานทั้งหลายก็ดี ครั้นว่าออกมาจากท้องแม่แลไส้ อันว่าเลือดซึ่งมีอยู่ในอกแม่นั้นเหตุว่าแม่ตจนมีใจรักนัก จึงเลือดที่ในอกของแม่นั้น ก็กลายเป็นน้ำมันไหลออกมาของแม่ให้ลูกนั้นได้ดูดกิน อันนี้เป็นวิสัยแห่งโลกย์ทั้งหลายแลฯ อันว่ามนุษย์ทั้งหลายนี้ ครั้นว่าผู้น้อยนั้นใหญ่ก็มาอาศัยแก่พ่อแม่นั้นเจรจาภาษาอันใด ๆ ก็ดี ครั้นแลว่าลูกนั้นได้ยินพ่อแม่เจรจาโดยภาษาอันนี้นั้น ๆ ตามภาษาพ่อแม่เจรจานั้นแลฯ ผิว่าผู้น้อยนั้นเกิดมาแล้วใหญ่มากล้าแข็งแล้วไส้ ถ้าแลว่าบมิได้ภาษาอันใด ๆ เลยไส้ กุมารนั้นก็เจรจาโดยสัจจบาลีแล โดยกำหนดท่านว่าไว้ต่อได้ ๑๖ ปี จึงหย่านมแลฯ ฝูงกุมารมนุษย์ทั้งหลายอันเกิดมานี้มี ๓ สิ่ง ๆ หนึ่งชื่อว่าอภิชาติบุตร สิ่งหนึ่งชื่ออนุชาติบุตร สิ่งหนึ่งชื่ออวชาติบุตรฯ อันว่าอภิชาติบุตรนั้นไส้ ลูกนั้นเฉลียวฉลาดช่างเชาว์เหล่าเกลี้ยงดียิ่งกว่าพ่อกว่าแม่ แลรู้หลักนักปราชญ์ยิ่งกว่าพ่อกว่าแม่ ทั้งรูปนั้นก็งามกว่าพ่อกว่าแม่ มั่งมีเป็นดีมียษฐาศักดิ์มีกำลังยิ่งกว่าพ่อกว่าแม่ ลูกอันดีกว่าพ่อแม่ดังนี้ไส้ชื่อว่าอภิชาติบุตรแลฯ ลูกอันเกิดมาแลรู้หลักเรี่ยวแรงแลรูปโฉมแต่พอเพียงพ่อเพียงแม่ทุกประการดังนั้นชื่อว่าอนุชาติบุตรแลฯ ลูกอันเกิดมานั้นแลถ่อยกว่าพ่อกว่าแม่ทุกประการ ดังนั้นไส้ชื่อว่าอวชาติลบุตรแลฯ อันว่ามนุษย์ทั้งหลายนี้ ๔ จำพวก ๆ หนึ่งชื่อว่าคนนรก อันหนึ่งชื่อคนเปรต จำพวกหนึ่งชื่อคนติรัจฉาน อันหนึ่งชื่อคนมนุษย์ ฝูงคนอันที่ฆ่าสิงสัตว์อันรู้กระทำการอันเป็นบาปนั้นมาเถิงตน แลทื่านได้ตัดตีนสินมือแลทุกข์โศกเวทนานักหนาดังเรียกชื่อว่าคนนรกแลฯ จำพวกหนึ่งคนอันหาบุญอันจะกระทำบมิได้ แลแต่เมื่อก่อนแลเกิดมาเป็นคนเข็ญใจนักหนาแลจะมีผ้าแลเสื้อรอบตนนั้นหาบมิได้ อยู่หาอันจะกินบมิได้ อยากเผ็ดเร็ดไร้นักหนาแลมีรูปโแมโนมพรรณนั้นก็บมิงาม คนหมู่นี้ชื่อว่าเปรตมนุษย์แลฯ คนอันที่มีรู้ว่าบุญแลบาปย่อมเจรจาที่อันหาความเมตตากรุณามิได้ ใจกล้าหาญแข็งบมิรู้ยำเกรงท่านผู้เฒ่าผู้แก่ บมิรู้ปฏิบัติพ่อแม่แลครูบาธยายลมิรู้รักพี่รักน้อง ย่อมกระทำบาปทุกเมื่อ คนผู้นี้ชื่อว่าติรัจฉานมนุษย์แลฯ คนอันที่รู้จักผิดแลชอบ แลรู้จักที่อันเป็นบาปแลบุญ แลรู้จักประโยชน์ในชั่วนี้ชั่วหน้า แลรู้กลัวแก่บาปแลละอายแก่บาป รู้จักว่ายากว่าง่าย แลรู้รักพี่รักน้องแลรู้เอ็นดูกรุณาคนผู้เข็ยใจ แลรู้ยำเกรงพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่สมณพราหมณาจารย์อันอยู่ในสิกขาบทของพระพุทธเจ้าทุกเมื่อ แลรู้จักคุณแก้ว ๓ ประการไส้ แลคนฝูงนี้แลชื่อว่ามนุษยธรรมแลฯ คนทั้งหลายอันชื่อว่ามนุษย์นี้มี ๔ จำพวก จำพวกหนึ่งเกิดแลอยู่ในชมพูทวีปนี้แลฯ คนจำพวกหนึ่งเกิดแลอยู่ในแผ่นดินบุรพวิเทหเบื้องตระวันออกเรา คนจำพวกหนึ่งเกิดแลอยู่ในแผ่นดินอุตรกุรุทวีปอยู่ฝ่ายเหนือเรานี้ คนจำพวกหนึ่งเกิดแลอยู่ในแผ่นดินอมรโคยานทวีปเบื้องตระวันตกเรานี้ ฯ คนอันอยู่ในแผ่นดินชมพูทวีปอันเราอยู่นี้ หน้าเขาดังดุมเกวียน ฝูงคนอันอยู่ในบุรพวิเทหะหน้าเขาดังเดือนเพ็งแลกลมดังหน้าแว่นฯ ฝูงคนอันอยู่ในอุตรกุรุนั้นแลหน้าเขาเป็น ๔ มุมดุจดังท่านแกล้งถากให้เป็น ๔ เหลี่ยมกว้างแลรีนั้นเท่ากันแลฯ ฝูงคนอันอยู่ในแผ่นดินอมรโคยานทวีปนั้น หน้าเขาดังเดือนแรม ๘ ค่ำนั้นแลฯ อายุคนทั้งหลายอันอยู่ในชมพูทวีปนี้บห่อนจะรู้ขึ้นรู้ลง เพราะเหตุว่าดังนี้ลางคาบคนทั้งหลายมีศีลมีธรรม ลางคาบคนทั้งหลายหาศีลหาธรรมบมิได้ฯ ผิแลว่าเมื่อคนทั้งหลายนั้นมีศีลอยู่ไส้ ย่อมกระทำบุญแลธรรมแลยำเยงผู้เฒ่าผู้แก่พ่อแม่ แลสมณพราหมณาจารย์ดังนั้นแลอายุคนทั้งหลายนั้นก็เร่งจำเริญขึ้นไป ๆ เนือง ๆ แลฯ ผิแลว่าคนทั้งหลายมิได้จำศีลแลมิได้ทำบุญ แลมิได้ยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่พ่อแม่แลสมณพราหมณาจารย์ครูบาธยายแล้วดังนั้นไส้ อันว่าอายุคนทั้งหลายนั้นก็เร่งถอยลงมา ๆ เนือง ๆ แลฯ แลอายุคนในแผ่นดินชมพูทวีปเรานี้ว่าหากำหนดมิได้เพราะเหตุดังนั้นแลฯ อันว่าฝูงคนอันอยู่ในบุรพวิเทหะนั้นแลอายุเขายืนได้ ๑๐๐ ปี เขาจึงตายฯ อันว่าฝูงคนทั้งหลายอันอยู่ในอมรโคยานทวีปนั้นอายุเขายืนได้ ๔๐๐ ปีจึงตายแลฯ อันว่าฝูงคนอันอยู่ในอุตรกุรุทวีปนั้น อายุเขายืนได้ ๑๐๐๐ ปีจึงตายแลฯ แลอายุคนทั้ง ๓ ทวีปนั้นบห่อนจะรู้ขึ้นรู้ลงเลยสักสาบ เพราะว่าเขานั้นอยู่ในปัญจศีลทุกเมื่อบมิได้ขาด เขาบห่อนจะรู้ฆ่าสัตว์ตัวเป็นให้จำตายเขาบห่อนจะรู้ลักเอาทรัพย์สินท่านมากก็ดีน้อยก็ดีอันเจ้าของมิได้ให้ เขาบห่อนจะรู้ฉกลักเอา อนึ่งเขาบห่อนจะรู้ทำชู้ด้วยเมียท่านผู้อื่น ส่วนว่าผู้หญิงเล่าเขาก็บห่อนจะรู้ทำชู้ด้วยผัวท่านแล ผู้อื่นแลเขาบห่อนจะรู้ทำชู้จากผัวของตน อนึ่งเขาบห่อนจะรู้เจราจามุสาวาทแลเขาบห่อนจะรู้เสพย์สุรายาเมา แลเขารู้ยำรู้เกรงผู้เม่าผู้แก่พ่อแลแม่ของเขา ๆ รู้รักพี่รู้รักน้องของเขา ๆ ก็ใจอ่อนใจอดเขารู้เอ็นดูกรุณาแก่กัน เข่บห่อนจะรู้ริษยากัน เขาบห่อนจะรู้เสียดรู้ส่อรู้ด่ารู้ทอรู้พ้อรู้ตัดกันแล เขาบห่อนจะรู้เฉลาะเบาะแว้งถุ้งเถียงกัน เขาบห่อนจะรู้ชิงช่วงหวงแหนแดนแลที่บ้านรู้ร้าวของกันแล เขาบห่อนจะรู้ทำข่มเหงเอาเงินเอาทองของแก้วลูกแลเมียแลข้าวไร่โคนาหัวป่า ค่าที่ห้อยละหานธารน้ำเชิงเรือนเรือกสวนเผือกมันหัวหลักหัวต่อหัวล้อหัวเกวียน เขามิรู้เบียดเบียนเรือชานาวาโคมหิงษาช้างม้าข้าไทย สรรพทรัพย์สิ่งสินอันใดก็ดี เขาบห่อนรู้ว่าของตนท่านดูเสมอกันสิ้นทุกแห่งแล เขานั้นบห่อนทำไร่ไถนาค้าขายหลายสิ่งเลยฯ เบื้องตระวันนตกเขา พระสุเมรุใหญ่ อันชื่อว่า อมรโคยาน ทวีปนั้นโดยกว้างได้ ๙๐๐๐ โยชน์ แลมีแผ่นดินล้อมรอบเป็นบริวาร ฝูงคนอันอยู่ที่ในแผ่นดินนั้นหน้าเขาดังเดือนแรม ๘ ค่ำ แลมีแม่น้ำใหญ่แลแม่น้ำเล็บแลเมืองใหญ่แลเมืองน้อย มีนครใหญ่กว้าง ๆ น้ำนั้นเบื้องตระวันออกเขาพระสุเมรุนั้น มีแผ่นดินใหญ่อันหนึ่งชื่อว่าบุพพวิเทหทวีป ๆ นั้นโดยกว้างได้ ๗๐๐๐ โยชน์ ด้วยปริมณฑลรอบไส้ได้ ๒๑,๐๐๐ โยชน์ แลมีแผ่นดินเล็กได้ ๔๐๐ แผ่นดินล้อมรอยเป็นบริวาร ฝูงคนอยู่ที่นั้นหน้าเขากลมดังเดือนเพ็ง แลมีแม่น้ำใหญ่แม่น้ำเล็กมีเขามีเมืองใหญ่เมืองน้อย ฝูงคนอันอยู่ที่นั้นมากมายหลายนักแลมีท้าวพระญาแลมีนายบ้านนายเมืองฯ แผ่นดินเบื้องตีนนอนพระสิเนรุนั้นชื่อว่าอุตตรกุรุทวีปโดยกว้างได้ ๘,๐๐๐ โยชน์ แผ่นดินเล็กได้ ๕๐๐ แผ่นดินนั้นล้อมรอบเป็นบริวาร ฝูงคนอยู่ในที่นั้นหน้าเขาเป็น ๔ มุมแลมีภูเขาทองล้อมรอบ ฝูงคนทั้งหลายอยู่ที่นั้นมากหลายนัก เทียรย่อมดีกว่าคนทุกแห่งเพื่อว่าเพราะบุญเขาแลเขารักษาศีล แลแผ่นดินเขานั้นราบเคียงเรียงเสมอกันดูงามนักหนา แลว่าหาที่ราบที่ลุบขุบที่เทงมิได้ แลมีต้นไม้ทุกสิ่งทุกพรรณแลมีกิ่งตาสาขางามดีมีค่าคลบมั่งคั่งดังแกล้งทำไว้ ไม้ฝูงนั้นเป็นเย่าเป็ฯเรือนเลือนกันเข้ามอง งามดังปราสาทเป็นที่อยู่ที่นอน ฝูงคนในแผ่นดินชาวอุตรกุรุทวีป แลไม้นั้นหาด้วงหาแลงมิได้แลไม่มีที่คดที่โกง หาพุกหาโพรงหากลวงมิได้ ซื่อตรงกลมงามนักหนาแลมีดอกเทียรย่อมมีดอก แลลูกอยู่ทุกเมื่อบมิได้ขาดเลยฯ อนึ่งที่ใดแลมีบึงมีหนองมีตระพังทั้งนั้น เทียรย่อมมีดอกบัวแดงบัวขาวบัวเขียวบัวหลวง แลกระมุทอุบลจลกรณีแลนิลุบลบัวเผื่อนบัวขม ครั้งลมพัดต้องมีกลิ่นอันหอมขจรอยู่มิรู้วายสักคาบฯ คนฝูงนั้นบมิต่ำ บมิสูง บมิพี บมิผอม ดูงามสมควรนัก คนฝูงนั้นเรี่ยวแรงอยู่ชั่วตนแต่หนุ่มเถิงเฒ่าบมิรู้ถอยกำลังเลย แลคนชาวอุตรกุรุนั้นหาความกลัวบมิได้ด้วยจะทำไร่ไถนาค้าขายวายล่องทำมาหากินดังนั้นเลยสักคาบอนึ่งชาวอุตรกุรุนั้นเขาบห่อนจะรู้ร้อนรู้หนาวเลย แลมิมีใญ่ข่าวแลริ้นร่านหานยุง แลงูเงี้ยงเปียวของทั้งหลายเลแลสารพสัตว์อันมีพิษ บห่อนจะรู้ทำร้ายแก่เขาเลยทั้งลมแลฝนก็บห่อนจะทำร้ายแก่เขา ทั้งแดดก็บห่อนจะรู้ร้อนตัวเขาเลย เขาอยู่แห่งนั้นมีเดือนวันคืนบห่อน จะรู้หลากสักคาบหนึ่งเลย แลชาวอุดรกุรุนั้นบห่อนจะรู้ร้อนเนื้อเดือดใจ ด้วยถ้อยความสิ่งอันใดบห่อนจะมีสักคาบ แลชาวอุตรกุรุนั้นมีช้าวสารสิ่งหนึ่ง ขชีเตนสาลีบมิพัดทำนาแลข้าวสาลีนั้นหากเป็น้ต้นเป็นรวงเอง เป็นข้าวสารแต่รวงนั้นมาเองแล ข้าวนั้นข้าวแล หอมปราศจากแกลบแลรำบมิพักตำ แลฝัดแลหากเป็นข้าวสารอยู่แล เขาชวนกันกินทุกเมื่อแล ในแผ่นดินอุตรกุรุนั้นยังมีศิลาสิ่งหนึ่งชื่อโชติปราสาท คนทั้งหลายฝูงนั้นเอาข้าวสารนั้นมาใส่ในหม้อทองอันเรืองงามดังแสงไฟ จึงยกไปตั้งลฝงเหนือศิลาอันชื่อว่าโชติปราสาท บัดใจหนึ่งก็ลุกขึ้นแต่ก้อนศิลา อันชื่อว่าโชติปราสาทนั้น ครั้นว่าข้าวนั้นสุกแล้วไฟนั้นก็ดับไปเองแลฯ เขาแลดูไฟนั้น ครั้นเขาเห็นไฟนั้นดับแล้วเขาก็รู้ว่าข้าวนั้นสุกแล้ว เขาจึงเอาถาดแลตระไลทองนั้นใสงามนั้นมา คดเอาข้าวใส่ในถาดแลตระไลทองนั้นแลฯ อันว่าเครื่องอันจะกินกับข้าวนั้นฉแม่นว่าเขาพอใจจักใคร่กินสิ่งใด ๆ เขามิพักหาสิ่งนั้น หากบังเกิดขึ้นมาอยู่แทบใกล้เขานั้นเองแลฯ คนผู้กินข้าวนั้นแลจะรู้เป็ฯหิดแลเรื้อนเกลื้อนแลกากหูแลเปา เป็นต่อมเป็นเตาเป็นง่อยเป็ฯเพลียตาฟูหูหนวกเป็นกระจอกงอกเงือยเปือยเนื้อเมื่อยตน ท้องขึ้นท้องพองเจ็บท้องต้องไส้ปวดหัวมัวตา ไข้เจ็บเหน็บเหนื่อยวิการดังนี้ไสบห่อนจะบังเกิดมีแก่ชาวอุตรกุรุนั้นแต่สักคาบหนึ่งเลยฯ ผิว่าเขากินข้าวอยู่แลมีคนไปมาหาเมื่อเขากินข้าวอยู่นั้น เขาก็เอาข้าวนั้นให้แก่ผู้ไปเถิงเขานั้นกินด้วยใจอันยินดีบห่อนจะรู้คิดสักเมื่อเลนยฯ แลในแผ่นดินอุตรกุรุทวีปนั้น มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่งโดยสูงได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยกว้างได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบบริเวณมณฑลได้ ๓๐๐ โยชน์ และต้นกัลปพฤกษ์นั้นผู้ใดจะปราถนาหาทุนทรัพย์สรรพเหตุอันใด ๆ ก็ดี ย่อมได้สำเร็จในต้นไม้นั้นทุแประการแลฯ ถ้าแลคนผู้ใดปราถนาจะใคร่ได้เงินแลทององแก้วแลเครื่องประดับนิ์ทั้งหลาย เป็นต้นว่าเสื้อสร้อยสนิมพิมพาภรณ์ก็ดี แลผ้าผ่อนท่อนแพรพรรณสิ่งใด ๆ ก็ดี แลข้าวน้ำโภชนาหารของกินสิ่งใดก็ดี ก็ย่อมบังเกิดปรากฎขึ้นแต่ค่าคบต้นกัลปพฤกษ์นั้น ก็ให้สำเร็จความปรารถนาแก่ชนทั้งหลายนั้นแลฯ แลมีฝูงผู้หญิงอันอยู่ในแผ่นดินนั้นงามทุกคนรูปทรงเขานั้นบมิต่ำบมิสูงบมิพีบมิผอมบมิขาวบมิดำ สีสมบูรณ์งามดังทองอันสุกเหลืองเรืองเป็นที่พึงใจฝูงชายทุกคนแลฯ นิ้วตีนนิ้วมือเขานั้นกลมงามนะแน่ง เล็บตีนเล็บมือเขานั้นแดงงามดังน้ำครั่งอันท่านแต่งแล้วแลแต้มไว้ แลสองแก้มเขานั้นไสงามเป็นนวลดังแกล้งเอาแป้งผัด หน้าเขานั้นหมดเกลี้ยงปราศจากมลทินหาผ้าหาไผบมิได้ แลเห็นดวงหน้าเขาใสดุจดวงพระจันทร์อันเพ็งบูรณ์นั้น เขานั้นมีตาอันดำดังตาแห่งลูกทรายพึ่งออกได้ ๓ วันที่บูรณ์ขาวก็ขาวงามดังสังข์อันท่านพึ่งฝนใหม่แลมีฝีปากนั้นแดงดังลูกฝักข้าวอันสุกนั้น แลมีลำแข้งลำขานั้นงามดังลำกล้วยทองฝาแฝดนั้นแล แลมีท้องเขานั้นงามราบเพียงลำตัวเขานั้นอ้อนแอ้นเกลี้ยงกลมงาม แลเส้นขนนั้นละเอียดอ่อนนัก ๘ เส้นผมเขาจึงเท่าผมเรานี้เส้นหนึ่ง แลผมเขานั้นดำงามดังปีกแมลงภู่เมื่อประลงมาเถิงริมบ่าเบื้องต่ำ แลมีปลายผมเขานั้นงอนเบื้องบนทุกเส้น แลเมื่อเขานั่งอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี เดินไปก็ดี ดังจักแย้มหัวทุกเมื่อ แลขนคิ้วเขานั้นดำแลงามดังแกล้งก่อ เมื่อเขาเจรจาแลน้ำเสียงเขานั้นแจ่มใส่ปราศจากเสมหเขฬทั้งปวงแล ในตัวเขานั้นเทียรย่อมประดับนิ์ด้วยเครื่องถนิมอาภรณ์บวรยุคันฐี แลมีรูปโฉมโนมพรรณอันงามดังสาวอันได้ ๑๖ เข้า แลรูปเขานั้นบห่อนรู้เฒ่ารู้แก่แลหนุ่มอยู่ดังนั้นชั่วตนทุก ๆ แลฯ อันว่าฝูงผู้ชายอันอยู่ในแผ่นดินอุตรกุรุนั้นโสด รูปโฉมโนมพรรณเขานั้นงามดังบ่าวหนุ่มน้อยได้ ๒๐ ปี มิรู้แก่บมิรู้เฒ่าหนุ่มอยู่ดังนั้นชั่วตนทุก ๆ เลย แลเขานั้นไส้เทียรย่อมกินข้าวแลน้ำสรรพหารอันดีอันโอชารสนั้น แลแต่งแต่เขาทากระแจะแลจวงจันทน์น้ำมันอันดี แลมีดอกไม้หอมต่าง ๆ กัน เอามาทัดมาทรงเล่นแล้วก็เที่ยวไปเล่นตามสบาย บ้างเต้นบ้างรำบ้างฟ้อนระบะบรรลือเพลงดุริยดนตรี บ้างดีดบ้างสี บ้างตีบ้างเป่า บ้างขับสรรพสำเนียงเสียงหมู่นักคุนจุนกันไปเดียรดาษ พื้นฆ้องกลองแตรสังข์ระฆังกังสดาลมโหรทึกกึกก้องทำนุกดี ที่มีดอกไม้อันตระการต่าง ๆ สิ่งมีจวงจันทน์กฤษณาคันฦธาทำนองลบองดังเทพยดาในเมืองฟ้าสนุกนิ์ทุกเมื่อบำเรอกันบมิวายสักคาบหนึ่งเลย ลางหมู่ชวนเพื่อนกันไปเล่นแห่งที่ตระการสนุกนิ์นั้นก็มี ลางหมู่ไปเล่นในสวนที่สนุกนิ์ที่มีดอกไม้อันตระการต่าง ๆ สิ่งมีจวงจันทน์กฤษณาคนธาปาริกชาตนาคพฤกษ์ รำดวนจำปาโยทกามาลุตีมณีชาติบุตรทั้งหลาย อันมีดอกอันบานงามตระการแลหอมกลิ่นฟุ้งขจรไปบมิรู้วายฯ ลางหมู่ก็ชวนกันไปเล่นในสวนอันมีสรรพลูกไม้อันตระการแลมีลูกอันสุกแลหวาน คือว่าขนุนนั้นไส้ลางลูกนั้นใหญ๋เท่าไหหาม ลางลูกเท่ากลออมหอมก็หอมหวานก็หวาน เขาชวนกันกินเล่นสำราญบานใจในสวนนั้นฯ ลบางหมู่ชวนกันไปเล่นน้ำใหญ่อันมีท่าอันราบอันปราศจากเปือกแลตม เขาเขาชวนกันว่ายล่องท่องเล่นเต้นเด็ดเอาดอกไม้อันมีในแม่น้ำนั้นด้วยกันแล้ว แลลงอาบฉาบตัวเก็บเอาดอกไม้มราทัดตรงไว้เหนือหูแลหัว บ้างก็ชวนกันเล่นเหนือกองหาดทรายอันงาม เมื่อจะพากันลงอาบน้ำนั้น เขาก็ถอดเอาเครื่องประดับนิ์นั้นออกวางไว้เหนือหาดทราบแลฝั่งน้ำนั้นด้วยกันแล้ว ๆ ก็ลงอาบเล่นวายเล่นในน้ำนั้น ถ้าแลผู้ใดขึ้นมาก่อนไส้ ผ้าใครก็ดี เครื่องประดับนิ์ใครก็ดี เอานุ่งเอาห่มเอามาประดับนิ์ตนก่อนแลฯ ส่วนว่าผู้ขึ้นมาภายหลังเล่าไส้ เครื่องประดับนิ์ใครก็ดี ผ้าใครก็ดี เอามานุ่งมาห่ม แลเขาบมิได้ว่าของตนของท่าน เขาบห่อนยินร้ายแก่กันด้วยความดังนี้เลย เขาบห่อนด่าบห่อนเถียงกันเลย ผิว่ามีรูไม้อยู่ที่ใดแลเขาเข้าอยู่อาศัย ในที่นั้นก็พูนเกิดขึ้นมาเป็นเสื้อสาดอาสนะ แลเป็นฟูกนอนหมอนอิงเป็นม่าน แลเพดานกางกั้นแลสนุกนิ์ถูกเถิงพึงใจเขาทุกเมื่อแลฯ ผิว่าเมื่อเขาพึงใหญ่ขึ้นก็ดี เมื่อเขายังหนุ่มอยู่นั้นก็โ เมื่อเขาแรกจะรักใคร่กันก็ดี เมื่อเขาแรกได้กันเป็นผัวเป็นเมียก็ดี แลเขาอยู่ด้วยกันแลเสพเมถุนไส้แต่ ๗ วันนั้นแลฯ พ้นกว่านั้นไปเขามิได้เสพด้วยเมถุนเลยฯ เขาอยู่เย็นเป็นสุขนักหนา แลตราบเท่าสิ้นชนมายุเขาพันปีนั้นบมิได้มีอาวรสิ่งใด ๆ ดังอรหันตาขีณาสพเจ้าอันขาดกิเลสแล้วนั้นแลฯ ฝูงผู้หญิงอันอยู่ในแผ่นดินนั้น เมื่อเขามีครรภภ์และจะคลอดลูกไส้ในที่อยู่นั้นบห่อนจะรู้เจ็บท้องเจ็บพุง ครั้นว่าท้องนั้นสนใจรู้ว่าจะคลอดลูกแลแม่อยู่แห่งใดก็ดี เทียรย่อมเป็นแท่นเป็นที่อยู่ที่นอนเกิดขึ้นมาเองดังกล่าวมาแต่ก่อนนั้นฯ เขาจึงคลอดลูกในที่นั้น เขาบห่อนจะรู้เจ็บท้องเจ็บไส้บห่อนรู้แค้นเนื้อแค้นใจด้วยคลอดลูกนั้นสักอันเลยฯ ครั้นว่าเขาออกลูก ๆ เขานั้นหมดใสปราศจากเลือดฝาดแลเปลือกคาวทั้งปวงแลหามุลทินบมิได้เลย งามแลงามดังแท่งทองดอันสุกใสอันปราศจากราคี เขาบมิได้ล้างได้สีได้ลูบได้คลำ เขาบมิให้ลูกกินน้ำกินนมเลยฯ เขาเอาลูกเขานั้นไปนอนหงายไว้ในริวหนทืางที่คนทั้งหลายเดินไปมากล้ำกลายนั้นแลฯ แลที่นั้นมีหญ้าอันอ่อนดังสำลี แลแม่นั้นมิได้อยู่ด้วยลูกอ่อนนั้นเลย แม่นั้นก็คืนไปยังที่อยู่สู่ที่กินของเขานั้นแลฯ จึงผู้คนผู้หญิงก็ดีผู้ชายก็ดี คนทั้งหลายนั้นเดินไปมากล้ำกลายครั้นว่าแลเห็นลูกอ่อนนอนหงายอยู่ดังนั้น เทียรย่อมเอานิ้วมือเขาป้อนข้าวไปในปากลูกอ่อนนั้น ด้วยบุญของลูกอ่อนนั้นก็บังเกิดเป็นน้ำนมไหลออกมาแต่ปลายนิ้วมือเขาก็ไหลเข้าไปในคอลูกอ่อนนั้น หากเป็นข้าวกล้วยอ้อยของกินบำเรอลูกอ่อนนั้นทุกวันฯ ครั้นว่าหลายเดือนแล้วลูกอ่อนนั้นใหญ่ รู้เดินไปมาได้แล้วไส้ ถ้าว่าลูกอ่อนนั้นเป็นผู้หญิงก็ไปอยู่ด้วยเพื่อนเด็กผู้หญิงทั้งหลายหนึ่งกันนั้นแลฯ ถ้าว่าเด็กลูกอ่อนนั้นเป็นผู้ชายไส้ก็ไปอยู่ด้วยฝูงเด็กผู้ชายทั้งหลายนั้นแลฯ ลูกเต้าเขานั้นหากใหญ๋กลางบ้านลูกก็มิรู้จักแม่ ๆ ก็มิรู้จักลูก ถ้อยทีถ้อยมิได้รู้จักกัน เพราะว่าคนฝูงนั้นงามดังกันทุกคนแลฯ อนึ่งเมื่อเขาแรกรักกันและจะอยู่ด้วยกันแรกเป็นผัวเป็นเมียกันวันนั้น แม่แลลูกก็ดีพ่อแลลูกก็ดี เขาบห่อนได้กันเป็นผัวเป็นเมีย เพราะว่าเขาฝูงนั้นเป็นคนนักบุญแลเทพยดาหากตกแต่งเขาให้เป็นธรรมดาาเขาแลฯ ผิแลว่าเมื่อเขาแลตายจากกัน เขาบมิได้เป็นทุกข์เป็นโศก แลมิได้ร้องไห้รักกันเลย เขาจึงเอาศพนั้นมาอาบน้ำแลแต่งแง่ทากระแจะแลจวงนจันทน์น้ำมันอันหอมแลนุ่งผ้าห่มผ้าให้แล้วพระดับนิ์ด้วยเครื่องถนิมอาภรณ์แลทั้งปวงให้แล้ว ๆ จึงเอาศพนั้นไปวางไว้ในที่แจ้งยังมีนกสิ่ง ๑ เทียรย่อมบินเที่ยวไปทั่วแผ่นดินอุตรกุรุทวีปนั้น นกนั้นครั้นว่าแลเห็นซากศพไส้ นกนั้นก็คาบเอาซากศพนั้นไปเป็นกำนันบ้านนกนั้น เพราะว่าบมิให้เป็นอุกกรุกในแผ่นดิน เขานั้นได้ลางคาบ ๆ ไปเสียในแผ่นดินอันอื่นก็ว่า บางคาบ ๆ ไปเสียในฝั่งทะเลว่าชมพูทวีปอันเราอยู่นี้ก็ว่า เหตุให้พ้นอันตรายในแผ่นดินอุตรกุรุทวีปนั้นแลฯ อันว่านกนั้นไส้ ลางอาจารย์ว่านกหัสดีลึงค์ ลางอาจารยว่านกอินทรี ลางอาจารย์ว่านกกด อันมาคาบเอาศพไปเสียนั้น ลางอาจารย์ว่าเอาตีนคีบไปเสียฯ ฝูงคนอยู่ในอุตรกุรุทวีปนั้น เมื่อเขาตายเขาบห่อนได้ไปเกิดในจตุราบางทั้ง ๔ คือว่านรกแลเปรตแลติรัจฉานอสูรกายนั้นนั้นเลยฯ เขาไส้เทียรย่อมไปเกิดในที่ดีคือสวรรค์ชั้นฟ้าแล เพราะว่าเขานั้นย่อมตั้งอยู่ในปัญจศีลนั้นทุกเมื่อแลบมิได้ขาดฯ เครื่องเป็นดีคนฝูงนั้นบมิรู้สิ้นสุดเลย ยังคงบริบูรณ์อยู่ต่อเท่ากาลบัดนี้แลฯ ในพระคัมภีร์อัน ๑ ว่าดังนี้ แผ่นดินในอุตรกุรุทวีปนั้นราบคาบเสมอกันงามนักหนา มิได้เป็นขุมรูบมิได้ลุ่มบมิได้เทงอันว่าคนทั้งหลายอันที่อยู่นั้ บห่อนจะรู้มีความทุกข์ความโศกเลยฯ อันว่าสิงสีตว์ทั้งหลายหลายมีอาทิ คือ หมูแลหมีหมาแลงูเงี้ยวเกี่ยวข้อง แลสรรพสัตว์อันร้ายอันคะนองแลจะได้เบียดเบียนคนทั้งหลายอันอยู่ในที่นั้นหาบมิได้เลยฯ แลว่ายังมีหญ้าสิ่ง ๑ ชื่อว่าฉพิการทัตรเป็นขึ้นในแผ่นดินนั้น แลเห็นเขียวงามต่ำงามนักดังแววนกยูงแลบละเอียดอ่อนดังฟูกดังสำลีแลสูงขึ้นพ้นดิน ๔ นิ้ว แลน้ำนั้นไสเย็นสะอาดกินหวานเซาะ ท่าน้ำนั้นดูงามเทียรย่อมเงินทองแลแก้วสัตตพิธรัตนะไหลเรียงเพียงเสมอฝั่งกากินบมิพักก้ม คนแห่งนั้นลางคนสูงค่าคนในบุรพวิเทหทวีป แลคนในอุตรากุรุทวีปนั้นเขานุ่งผ้าขาว อันเขานึกเอาแต่ต้นกัลปพฤกษ์นั้น แลต้นกัลปพฤกษ์นั้นโดยสูงได้ ๑๐ วา ๒ ศอก โดยกว้างได้ ๑๐ วา คนแห่งนั้นเขาบห่อนรู้ฆ่าสิงสัตว์อันรู้ติงแลเขาบห่อนรู้กินเนื้อฯ ผิว่าคนแห่งนั้นเขาตายไส้เขาบมิพักเอาศพนั้นไปเสียเลย แลยังมีนกสิ่งหนึ่งชื่อว่านกอินทรี ๆ นั้นหากมาคาบเอาไปเสียกลางป่าแลฯ ฝูงคนทั้งหลายคือว่าผู้หญิงผู้ชายในแผ่นดินนั้น เมื่อเขาจะรักกันเป็นผัวเมียนั้นเขาบมิพักเสียสิ่งอันใดอันหนึ่งเลย ใจเขารักใคร่กันเขาก็อยู่ด้วยกันเองแล ครั้นว่เขาเห็นกันเมื่อใดใจเขาผู้กพันกันเข้า หากโสดตาแลหากันเข้าก็รักกันแลฯ อันนี้ฎีกาแต่อยู่หั้นต่อเท่าเถิงไฟไหม้กัลป ๔ อันในนี้รูปกระต่ายอันอยู่ในพระจันทร์แลโยคาทิโพธิสัตว์เป็นนกขุ้มอยู่ในรัง ไฟบมิไหม้ได้ต่อเท่าสิ้นกัลป ๑ ฯ อันว่าคำในที่นี้เรื่องโฑธิสัตว์เมื่อท่านมลวงคาไปมุงสลิงเจ้าไท แลฝนบมิได้รั่วไหลในเรือนอันลางคาออกนั้น ฝนบมิได้รั่วเลยตราบเท่าสิ้นกัลป ๑ แลฯ ไม้อ้ออันอยู่รอบริมสระพังเมื่อโพธิสัตว์เป็นพระญาแก่วานรแลมีบริวารได้ ๘ หมื่น แลท่านอธิษฐานว่าให้ไม้อ้อนั้นกลวงรอดอยู่ต่อเท่าสิ้นกัลป ๑ แลฯ คนแห่งนั้นแต่บ่าวแต่สาวตราบเท่าเถิงแก่ เถิงเฒ่าเขาเสพเมถุนก้วยกัน ๔ คาบไส้ ลางคาบเล่าคนนั้นแต่หนุ่มเถิงเฒ่าบมิได้เสพเมถุนเลยสักคาบ ฯ คนผู้นั้นเขากินข้าวเขาบห่อนรู้ทำนา เขาเทียรย่อมเอาข้าวสารอันเป็นเองนั้นมากิน แลข้าวสารนั้นหากขาวอยู่ บมิพักตากพักตำ พักฝัด พักซ้อมเลย หากเป็นข้าวสารมาเองแลฯ ยังมีลูกไม้สิ่ง ๑ ชื่อว่า คุทิ เครื่องลูกไม้นั้นเกิดมาเป็นหม้อข้าวของเขา เขาเอาน้ำใส่ในข้าวแล้วเขาตั้งขึ้นเหนือศิลา อันชื่อว่าโชติปราสาท ๆ นั้นก็เป็นไฟลุกขึ้นเองแล ๆ ครั้งว่าเข้านั้นสำเร็จดีแล้วไฟนั้นก็ดับไปเองแลฯ เขาก็คดเอาข้าวนั้นมากิน ข้าวนั้นก็หวานนักแลฯ อันว่าชาวอุตตรกุรุทวีปนั้นเขาบห่อนรู้ทำเรือนอยู่เลย ยังมีไม้สิ่ง ๑ เทียรย่อมเป็นทองชื่อว่าแมลชุสเป็นดังเรือน แลไม้นั้นเป็นเหย้าเป็นเรือนของเขาทั้งหลายอันอยู่ในอุตตรกุรุทวีปนั้นแลฯ สมเด็จพระเจ้าบัณฑูรเทศนาดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าก็ดีแลพระปัจเจกโพธิเจ้าก็ดี แลพระอรรคสาวกเจ้าก็ดี แลพระอรหันตาขีณาสพเจ้าก็ดี แลโพธิสัตว์อันจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าก็ดีแล พระญาจักรพรรดิราชก็ดีอันว่าผู้มีบุญทั้งหลายดังกล่าวมานี้ไส้ ท่านบห่อนรู้ไปเกิดในแผ่นดิน ๓ อันนั้นเลย ท่านย่อมมาเกิดในแผ่นดินชมพูทวีปอันเราอยู่นี้แลฯ คนอันเกิดในแผ่นดินชมพูทวีปนี้เขาบป่อนไปเกิดในแผ่นดิน ๓ อันนั้นเลยฯ ฝูงคนอันอยู่ในแผ่นดินใหญ่ใหญ่ ๓ อันนั้นก็ดี และคนอันอยู่ในแผ่นดินเล็กเล็กทั้ง ๒ พันนั้นก็ดีผิแลว่าเมื่อใดมีพระญาจักรพรรดิราชไส้ คนทั้งหลายฝูงนัน้นย่อมมาเฝ้ามาแหนท่านนั้นดังคนทั้งหลายอันอยู่ในแผ่นดินเรานี้แลฯ เทียรย่อมไหว้นบคำรพยำเยงพระญาจักรพรรดิราชเจ้านั้นแลฯ ท่านผู้เป็นพระญาจักรพรรดิราชนั้นท่านมีศักดิ์มียศดังนี้แลจะกล่าวแลลน้อยฯ แต่พอให้รู้ไส้คนผ้ใดที่ได้กระทำบุญแต่ก่อนคือว่าได้ปฏิบัติบูชาแก่พระศรีรัตนตรัยแลรู้จักคุณพระพุทธเจ้าพระธรรมเจ้าพระสงฆ์เจ้าแลให้ทานรักษาศีลเมตตาภาวตา ครั้นตายก็เอาตนไปเกิดในสวรรค์ ลางคาบเล่าได้ไปเกิดเป็นท้าวเป็ฯพระญาผู้ใหญ่ แลมีศักดิ์มียศบริวารเป็นอเนกอนันต์ไส้ ได้ปราบทั่วทั้งจักรวาลแลฯ แม้ท่านว่ากล่าวถ้อยคำสิ่งใดก็ดีแล บังคับบัญชาสิงใดก็ดีเทียรย่อมชอบด้วยทรงธรรมทุกประการแลฯ ท่านนั้นเป็นพระญาทรงพระนามชื่อว่าพระญาจักรพรรดิราชแลฯ พระญามีบุญดังนั้นใจฉมักใคร่ฟังธรรมเทศนานัก ย่อมฟังธรรมเทศนาแต่สำนักนิ์สมษพราหมณาจารย์ แลนักปราชผู้รู้ธรรมฯ แลพระญานั้นธทรงปัญจศีลทุกวารบมิได้ขาดในวันอุโบสถศีลไส้ย่อมทรงอัฏฐศีลทุกวันอุโบสถมิขาดฯ ในวันเพ็งบูรณไส้ ครั้นเมื่อเช้าธย่อมให้แต่ธนทรัพย์สรรพเหตุอันอเนกนั้นแล้ว ธให้ขนเอามากองไว้ที่หน้าพระลานไชย แลธแจกให้เป็นทานแก่คนอันเที่ยวมาขอ ครั้นว่าธแจกทานสิ้นแล้วธจึงชำระสระพระเกษแลสรงน้ำด้วยกัลออมทองคำอันอบไปด้วยเครื่องหอม ได้ละพันกัลออมแล้ว ธจึงทรงผ้าขาวอันเนื้อละเอียดนั้นแล้ว ธจึงเสวยโภชนาหารอันมีรสอันดีดุจมีในสวรรค์นั้นฯ แล้วธจึงเอาผ้าขาวอันเนื้อละเอียดอันชื่อว่าผ้าสุกุลพัตร์มาห่มแลพาดเหนือจะงอยบ่าแล้วจึงสมาทานเอาศีล ๘ อัน แล้วธจึงเสด็จลงไปนั่งกลางแผ่นดินทองอันประดับนิ์ด้วยแก้วแลรุ่งเรืองงามดังแสงพระอาทิตย์แล กอประด้วยฟูกเมาะเบาะแพรแลหมอนทอง สำหรับย่อมประดับนิ์ด้วยแก้วสั้ตตพิธรัตนะแท่นทองนั้นอยู่ในปราสาทแก้วอันรุ่งเรืองงามนักหนา แลพระญานั้นธรำพึงเถิงทานอันธให้นั้นแลรำพึงเถิงศีลอันธรักษาอยู่นั้น แลธรำพึงเถิงธรรมอันทรงไว้นั้นธก็เมตตาภาวนาแล ด้วยอำนาจบุญสมภารนั้นธจึงได้ปราบทั่วทั้งจักรวาลดังนั้นแล ฯ
      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น